Admin_support

Admin_support

ผู้ดูแล

chalermphol@qmlcorp.com

  กะเทาะ! ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. (1251 อ่าน)

21 ธ.ค. 2559 04:12



ภาคประชาชน อัดแก้ไขกม.ผิดจุด โฆษกไอซีที เร่งแจงข้อเท็จจริง ขณะที่ “แอมเนสตี้” ห่วงขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ ด้านที่ปรึกษา TFIT คาดผลกระทบเชิงจิตวิทยา

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... หรือที่หลายฝ่ายเรียกกันว่าร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กำลังเป็นที่ตึงเครียดและถกเถียงไปทั่วในสังคมออนไลน์ สืบเนื่องจากเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั้งระบบ

โฆษกไอซีที แจง เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.คอมฯ

สาเหตุสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีทีนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต โดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันได้มีการประกาศใช้มาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ส่งผลให้เนื้อหาบางมาตราของกฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงขึ้น

ความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาร่างกฎหมายในบางมาตราที่อาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ และอาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้น อย่าง มาตรา 15 ระบุว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด... หลักการคือให้เกิดความชัดเจนในการตีความ เน้นย้ำว่า การจะเอาผิดกับผู้ให้บริการได้ ต้องเป็นกรณีผู้ให้บริการรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของตน เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิด อีกทั้ง ยังเพิ่มเติมหลักการให้ผู้ให้บริการหรือผู้เป็นเจ้าของเครือข่าย หากสามารถพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดดังกล่าวและได้ปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนในการระงับหรือนำข้อมูลออกจากระบบแล้ว ถือได้ว่าไม่มีความผิดตามมาตราดังกล่าวนี้ ภายใต้หลักการคือ ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้พิสูจน์ตนเอง ว่าตนเองได้กระทำการตามกฎระเบียบของรัฐแล้ว ก็ย่อมพ้นผิด อันเป็นช่องทางให้ผู้ให้บริการให้ความร่วมมือกับรัฐในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ให้บริการในการประกอบกิจการ เนื่องจากการกำหนดผู้ให้บริการสามารถแสดงหลักฐานว่าตนได้ทำตามกฎและระเบียบแล้ว เนื่องจากผู้ให้บริการอยู่ใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงมากกว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งผู้ให้บริการและประชาชนอาจไม่ไว้วางใจ

ส่วนมาตรา 20 เนื้อหากฎหมายระบุว่า ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรค 1-3 นั้นเป็นความผิดตามมูลฐานเดิมซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว ส่วนที่บางคนไม่เข้าใจคือข้อความตามวรรค 4 ระบุว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน... ยกตัวอย่างเช่น คลิปวีดิโอที่ปรากฏทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเนื้อหาสอนให้คนฆ่าตัวตาย สอนให้ประกอบวัตถุระเบิด เนื้อหาดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งไม่ควรที่จะปล่อยให้มีการเผยแพร่ในสังคมไทย สำหรับขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่รัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมาจากตัวแทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณา ซึ่งต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แล้วจึงเสนอเพื่อขอรับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯอีกทอดหนึ่ง แล้วจึงยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์

จะเห็นว่า กรณีดังกล่าวผ่านการตรวจสอบ กลั่นกรองหลายขั้นตอน ทั้งจากคณะกรรมการกลั่นกรอง พนักงานเจ้าหน้าที่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้าย จะเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณามีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลนั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวผ่านการตรวจสอบโดยศาลซึ่งทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนอีกโสตหนึ่งมากกว่าการให้พนักงานทางปกครองดำเนินการโดยใช้ดุลยพินิจซึ่งเป็นที่มาของความไม่ไว้วางใจในการใช้บังคับกฎหมายนี้มานาน การดำเนินการเหล่านี้จึงผ่านกระบวนการยุติธรรมแบบสากล ไม่ใช่พนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้ดำเนินการตามลำพังแต่อย่างใด นายฉัตรชัยฯ กล่าว

พ.ร.บ.คอมฯ ควรเน้นเนื้อหาโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ไม่ใช่หมิ่นประมาทคน

ขณะที่นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai Netizen Network) วิเคราะห์ว่า ตามมาตรา 15 หากในระบบของผู้ให้บริการมีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีความผิดตามมาตรา 14 ปรากฏอยู่ และผู้ให้บริการไม่ดำเนินการนำออกโดยทันทีเมื่อได้รับแจ้ง ผู้ประกอบการจะต้องมีความผิดมีโทษด้วย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มีประกาศกระทรวงดิจิตอลที่ออกมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 59 ในมาตรา 15 ที่มีเป็นกระแสหนักนั้น อาจจะดีขึ้นไม่มาก เนื่องจากมีการแบ่งประเภทผู้ให้บริการออกเป็นหลายประเภท และหากผู้ให้บริการบางประเภทตรงตามหลักเกณฑ์ก็จะไม่ต้องมีส่วนรับผิดที่เกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งพอเปรียบเทียบกับกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 50 ไม่มีการแบ่งประเภทผู้ให้บริการ

ส่วนข้อกังวลในร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นายอาทิตย์ระบุว่า ผู้ให้บริการประเภทที่ 4 ตามร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คอมพิวเตอร์ หมายถึงผู้ให้บริการประเภท Web Portal ,Social media และผู้ประกอบการที่มีหน้าเพจใน Social Media ต่าง ๆ จะมีความผิดด้วย แม้ว่าดำเนินการลบข้อมูลออกจากระบบแล้วภายใน 3 วัน จะสามารถร้องขอไม่ต้องรับโทษได้แต่ในทางกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีความผิด เพียงแต่ได้ลดหย่อนหรือไม่ต้องรับโทษ

สำหรับมาตรา 16 ปัญหาที่ตามมา คือ หากศาลพิพากษาตามมาตรา 14 ให้มีความผิดแม้ว่าผู้ให้บริการจะทำการลบข้อมูลตามมาตรา 15 แล้ว ซึ่งคำสั่งศาลไม่ได้มีผลเพียงแค่ผู้กระทำความผิดคนเดียว แต่ยังมีผลกับคนอื่น ๆ ที่มีเนื้อหานั้นในครอบครอง ไม่ว่าจะอยู่ในระบบ Server ในเครื่องมือสื่อสาร หรือคอมพิวเตอร์เก็บไว้ แม้ไม่ได้มีการเผยแพร่เก็บไว้ดูเพียงคนเดียวหรือเพียงแค่วิ่งอยู่ในระบบถ้าถูกตรวจพบก็จะมีความผิดไปด้วย

เมื่อถามถึงทิศทางการที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ควรจะแก้ไข นายอาทิตย์อธิบายว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ควรกล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการโจมตีไปที่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ที่ผ่านมาการแก้ไขกลับกล่าวถึงเนื้อหาที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

“พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ควรพูดถึงอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ข้อมูลที่ทำอันตรายคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่เนื้อหาข้อมูลที่ทำอันตรายคน เพราะเนื้อหาประเภทนั้นมีระบุอยู่แล้วในกฎหมายฉบับอื่น ๆ อย่างกฎหมายหมิ่นประมาท หรือหากความมั่นคงที่ว่าอาจจะเป็นข้อมูลเนื้อหาที่ทำร้ายสถาบันหลักของชาติ ความมั่นคงของชาติ หรืออะไรต่าง ๆ มันก็มีกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงใช้อยู่แล้ว แม้กระทั่งลิขสิทธิ์ก็อยู่ในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ กฎหมายควรชัดเจนว่าพระราชบัญญัติแต่ละฉบับกำลังกล่าวถึงเรื่องอะไร ” นายอาทิตย์กล่าว

แอมเนสตี้ ผิดหวัง ห่วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในองค์กรที่ร่วมคัดค้านเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนในร่างแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มองว่า คนไทยจำนวนมากมีความตื่นตัวที่จะออกมาปกป้องสิทธิของตนเองและผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ผลที่ออกมาถือว่าน่าผิดหวังอย่างมาก โดยยืนยันว่าเนื้อหาในร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้เปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย

“ทางเรารู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากที่ผลการพิจารณาออกมาเป็นเช่นนี้ พ.ร.บ. ควรออกมาเพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่ในหลายจุดของร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้กลับเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ซึ่งไม่ใช่แค่แอมเนสตี้ที่แสดงความเป็นห่วงและเสนอให้มีการปรับแก้มาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนที่ลงชื่ออีกกว่า 360,000 คน ตลอดจนประชาคมโลกเองก็จับตามอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างใกล้ชิดเช่นกัน หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามกันต่อไปในเรื่องของการบังคับใช้และการแก้ไขในอนาคต” ปิยนุชกล่าว

จับตาดูยาว ๆ ตอนนี้แค่ผละกระทบทางจิตวิทยา

ด้านนายปฐม อินทโรดม ที่ปรึกษาสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย (TFIT) กล่าวเสริมว่า ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์นั้นมีการจำกัดสิทธิและเสรีภาพมากขึ้น แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ของทางรัฐบาลนั้นก็มีความจำเป็นที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาพิเศษในด้านที่อาจกระทบต่อความมั่นคงและสถาบันหลักของชาติมากกว่าในส่วนบุคคลทั่วไปหรือภาคองค์กรธุรกิจ ซึ่งสำหรับผลกระทบที่เกิดในสังคมไทยตอนนี้เพียงผลกระทบในด้านจิตวิทยาเท่านั้น

ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายลูก กฎกระทรวงที่ยังไม่ประกาศออกมาอีกควบคู่ เมื่อถึงเวลานั้นจะมีความชัดเจนต่าง ๆ เกิดขึ้น และอยากให้ประชาชนและภาคธุรกิจที่กำลังตื่นตระหนกร่วมกันตัดสินในตอนนั้น นายปฐมกล่าว

ผู้เขียน : กุลจิรา มุทขอนแก่น
ที่มา :http://www.smartsme.tv/

119.76.30.226

Admin_support

Admin_support

ผู้ดูแล

chalermphol@qmlcorp.com

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com