Admin_support
chalermphol@qmlcorp.com
เจาะลึกนโยบายทรัมป์กระทบส่งออกไทย ปี 60 (534 อ่าน)
24 ม.ค. 2560 00:32
หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯแทน บารัค โอบาม่า ที่หมดวาระลงในปีนี้ ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อเศรษฐกิจทั่วโลกทันที จากการประกาศนโยบายเศรษฐกิจยุคทรัมป์จะมุ่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ
ดึงดูดการลงทุนให้กลับเข้าสหรัฐ เพิ่มการจ้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ใช้มาตรการทางการค้ากับจีน และเบรคการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เพิ่งจะลงนามไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร่วมกับสมาชิกอีก 11 ประเทศ ได้แก่ ชิลี เปรู ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น
นโยบายดังกล่าวเป็นจุดเปลี่ยนที่ “ผู้ส่งออกไทย” จะต้องจับตามองในปี 2560 เพราะสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกหลักครองส่วนแบ่ง 11.4% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย รองจากอาเซียน และจีน โดยล่าสุดยอดส่งออกไทยไปสหรัฐฯในช่วง 11 เดือนแรก(มกราคม-พฤศจิกายน) 2559 มีมูลค่า 22,503 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น ไทย-สหรัฐฯ ยังได้เคยพยายามเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ร่วมกัน แต่หยุดชะงัก ไปในรอบที่ 6 จน “สหรัฐฯ “ หันไปเจรจาความตกลง TPP แทน
แต่หลังจากนี้ หากไม่มี TPP อาจจะช่วยลดความกังวลต่อปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างไทย และสมาชิกอาเซียนที่เป็นกลุ่ม TPP อย่างเวียดนามลงไปได้
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 60 ฟื้น
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงาน สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ (สนค.) ระบุว่า การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในปี 2560 มีแนวโน้มจะขยายตัวเป็นบวก จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ เป็นผลจากการดึงการลงทุน เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 2.2% จากปี 2559 ที่ขยายตัว 1.7 % ประกอบกับสัญญาณที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2-3 ครั้งสะท้อนว่าเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก โดยคาดว่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน จากปัจจุบันอยู่ที่ 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แต่อีกด้านหนึ่งอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร
สำหรับนโยบายการค้าที่อาจจะทำสงครามการค้ากับจีน เบื้องต้นประเมินว่ามีผล 2 ด้าน คือ 1) จะส่งผลดีกับการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ไทยแข่งขันกับจีน ในตลาดสหรัฐฯ หรือ 2) สินค้าที่จีนใช้วัตถุดิบนำเข้าจากไทย เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อาจจะชะลอตัวลง ก็เป็นไปได้เช่นกัน
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัว การปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งและการลดภาษีบุคคลธรรมดาจะทำให้ประชาชนมีรายได้และมีกำลังซื้อมาจากขึ้น ขณะที่นโยบายเรื่องกีดกันไม่กระทบการส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่ม เพราะเป็นสินค้าที่ยังมีความจำเป็นต้องนำเข้า ไม่สามารถจะดึงนักลงทุนสหรัฐที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเข้ามาลงทุนในสหรัฐในอุตสาหกรรมนี้ ได้ เพราะคงแบกรับต้นทุน โดยเฉพาะค่าแรงไม่ไหว ดังนั้น ในปี 2560 การส่งออกเครื่องนุ่มห่ม คาดว่าจะขยายตัว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
หวั่นเงินไหลกลับทุบกำลังซื้อทั่วโลกหด
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่าผลจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ จะทำให้กำลังซื้อในอนาคตลดลง และทำให้การส่งออกทรุด กล่าวคือ ทรัมป์จะมุ่งลงทุนสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในช่วงนี้ที่รัฐบาลเก็บภาษีได้น้อย แปลว่า รัฐบาลต้องไปกู้เงินมหาศาล เพื่อลงทุนระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะมีผลทำให้ดอกเบี้ยขึ้น และดอลลาร์แข็งค่า นำมาสู่ภาวะเงินดอลลาร์ไหลกลับสหรัฐฯ
เพราะหลายปีที่ผ่านมาประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ได้ขอยืมเงินกู้ในสกุลดอลลาร์อย่างมาก เพราะดอกเบี้ยถูกกว่าสกุลอื่น ประเมินว่ามีมูลค่ากู้สูงถึง 9.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยสัดส่วนเป็นของกลุ่ม Emerging Market ถึง 3.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่ง”จีน” มีการกู้สูงสุด เท่ากับว่า หลังจากนี้ลูกหนี้ต้องขายเงินสกุลตัวเอง นำดอลลาร์เพื่อใช้หนี้ เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมากๆ แปลว่า จากเดิมแลกบาท 1 บาทได้ 30 เพิ่มเป็น 40-50 ไปคืนหนี้ เงินก็จะหายจากระบบ เศรษฐกิจก็จะแย่ และเมื่อทุกประเทศทุกสกุลเงินทำคล้ายๆ กัน เท่ากับ รายได้ของประเทศหดไปด้วย จะเกิดปรากฎการณ์เหมือนกับสมัยประธานาธิบดี เรแกน ทำให้ทั่วโลกปั่นป่วนไปหมด (1980)
ซ้ำร้าย ทางกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างโอเปคตกลงจะลดการผลิตน้อยลง เพื่อให้ราคาน้ำมันขึ้น ถ้าน้ำมันขึ้น ก็จะเป็นการเก็บภาษีรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลกอีกเช่นเดียวกัน ถูกดอลลาร์แข็ง น้ำมันแข็งไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจโลกโดยรวม
ขณะที่การส่งออกสินค้ายังน่าห่วง เพราะซัพพลายสินค้าเกษตรเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ข้าวมีแนวโน้มมากขึ้น จากภาวะลานิญ่า แต่กำลังซื้อ (Purchasing power) ก็น้อยลง ฉะนั้นไม่ดีทั้งสองข้าง ซึ่งตามทฤษฎีแล้วการส่งออกสินค้าทั้งหมดไม่น่าจะดีจากนโยบายของทรัมป์ และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวยาวนานเป็นปี
ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยจะต้องปรับตัว เช่น สินค้าข้าว แม้ว่าจะส่งออกได้ 9.5-10 ล้านตันเช่นเดิม แต่จำเป็นต้องลดต้นทุนให้ได้ เพราะเมื่อเกิดภาวะซัพพลายล้นราคาลง ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบหากต้นทุนการผลิตไทยถูกกว่าคู่แข่ง
ทีมา :http://www.bangkokbanksme.com/
119.76.30.232
Admin_support
ผู้ดูแล
chalermphol@qmlcorp.com