Admin_support
chalermphol@qmlcorp.com
6 สิ่งที่ควรรู้ก่อนขยายธุรกิจสตาร์ทอัพไปต่างแดน (1056 อ่าน)
16 ก.ย. 2561 21:11
สิ่งที่สตาร์ทอัพควรรู้ ก่อนขยายธุรกิจไปต่างแดน
การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว การขยายตลาดไปต่างประเทศจึงเป็นสิ่งหลายธุรกิจต้องการอย่างแน่นอน แต่การรุกไปตลาดต่างแดน ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากแต่ละตลาดย่อมใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างไปตามโอกาสและข้อจำกัดของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นเราจึงควรมาศึกษา สิ่งที่ควรรู้ก่อนนำธุรกิจสตาร์ทอัพไปสู่ต่างแดน
1. ไม่ต้องรอให้ธุรกิจโตก่อน ความจริงแล้วธุรกิจสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องเริ่มจากการเติบโตภายในประเทศ ยิ่งเป็นธุรกิจออนไลน์ ยิ่งสามารถคว้าโอกาสที่จะได้ลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศยูเครนที่ได้ให้กำเนิดแอปพลิเคชันอย่าง WhatsApp และ PayPal ด้วยความสามารถของแรงงานในประเทศ รวมกับความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้ไปตั้งสาขาที่นั่นมาช้านาน ทำให้ยูเครนเป็นประเทศที่มีบุคลากรทางด้านไอทีที่มีคุณภาพสูง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดทางการเมือง และขนาดตลาดภายในประเทศ ส่งผลให้สตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นต้องโฟกัสธุรกิจไปที่ตลาดระดับสากลตั้งแต่เริ่ม โดยแนวคิดนี้ส่งเสริมให้ธุรกิจมีรูปแบบ และระบบที่พร้อมจะขยายตลาดได้ง่ายขึ้น
2. ท่องเอาไว้ว่าของเราต้องดีที่สุด เราจะต้องตั้งโจทย์ในทุกขั้นตอนว่าเราสามารถทำสิ่งใดได้ดีที่สุด กลยุทธ์ของเราคืออะไร และจุดที่สำคัญ คือ สินค้าและบริการของเราจะต้องสามารถแก้ปัญหาได้จริง เช่น ช่วยแก้ปัญหาได้ดีที่สุด มีแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่ง มี Customer Support ที่ดีที่สุด รวมทั้งการมีแต้มต่ออื่นๆทางธุรกิจ เช่น มี Active Users วันละแสนคนทุกวัน มี Average Time per Visit เป็นชั่วโมง หรือการมีเครือข่ายกับนักลงทุนในประเทศนั้นๆ
3. ไม่มีตลาดไหนที่เหมือนกัน การวิเคราะห์ตลาดเชิงลึกและการลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ถึงแม้สินค้า หรือบริการจะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ทว่าในแต่ละประเทศ ย่อมต้องการความเป็นเอกลักษณ์ เมื่อมองดูตลาดในประเทศเพื่อนบ้านที่แม้จะอยู่ใกล้กัน แต่พฤติกรรมกลับมีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น คนสิงคโปร์มักจะติดตามกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลก วัยรุ่นมาเลเซียส่วนมากให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ในขณะที่อินโดนีเซียไม่นิยมสินค้าราคาแพง เป็นต้น จากพฤติกรรมที่ต่างกัน ทำให้การทำการตลาดแบบเหมารวมจึงยากที่จะประสบความสำเร็จ
4. เป้าหมายคือการสร้างยอดขาย ไม่ใช่ระดมทุน สตาร์ทอัพหลายราย ตั้งเป้าหมายเพื่อการระดมทุน แต่สตาร์ทอัพคือธุรกิจรูปแบบหนึ่ง ที่ยอดขายจะเป็นตัวสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน โมเดลธุรกิจจำเป็นต้องเน้นเรื่องของวิธีการในการทำเงินเป็นสำคัญ และนำกำไรสะสมมาลงทุนต่อ จนเมื่อธุรกิจติดตลาดจึงค่อยมองหาการระดมทุน เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เพียงเข้ามาช่วยในการหาเงินทุนในรอบถัดๆไปโดยให้คำแนะนำ แต่ไม่ได้เป็นคนที่ช่วยขยายตลาดให้กับเรา เพราะฉะนั้นการทำการขยายตลาดจนถึงการทำธุรกิจให้ยั่งยืนจึงเป็นหน้าที่ของเรา
5. ทีมที่แข็งแกร่งเป็นสิ่งสำคัญ การหาผู้ช่วยในด้านกฎหมายในประเทศ รวมทั้งคนที่ให้คำปรึกษาสำหรับตลาดต่างประเทศจึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เนื่องจากในแง่ของกฎหมาย โดยเฉพาะการทำธุรกิจระหว่างประเทศ อาจใช้เวลานาน และมีรายละเอียดมากมาย รวมทั้งมีความยุ่งยากมากพอสมควร เมื่อเรามีผู้ช่วยในด้านนี้เพิ่มขึ้น จะช่วงทำให้สามารถโฟกัสกับธุรกิจได้มากขึ้น และในส่วนของการสร้างทีมในต่างแดนจำเป็นต้องหาทรัพยากรบุคคลจากท้องถิ่นที่มีความสามารถ และมีทัศนคติที่ตรงกัน ซึ่งจุดสำคัญ คือ พยายามรักษา DNA ของบริษัทและถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรไปสู่ทีมในต่างแดนให้ได้
6. ระวังเรื่องการใช้จ่ายเงินจนเกินจำเป็น สตาร์ทอัพควรกำหนดวงเงินที่ใช้ในการขยายตลาด โดยดูจากงบประมาณที่มี และทดลองตลาดในจุดสำคัญก่อนจะทำแบบ Full Scale เช่น หากจะตั้งบริษัทในต่างประเทศก็อาจจะใช้วิธีการเช่าพื้นที่ หรือ จ้างพนักงานแบบเป็นสัญญาจ้าง เป็นต้น หลังจากงบประมาณถูกใช้ไประยะหนึ่ง จะทำให้ธุรกิจมองเห็นภาพว่าคุ้มที่จะไปต่อหรือไม่
สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ควรคิดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นว่า สินค้าและบริการของเราจะไปในต่างแดนได้อย่างไร ไปเมื่อไหร่ โดยต้องรอให้พร้อม 100% ก่อนไหม เมื่อเรามีสินค้าหรือบริการที่ดี ทดสอบว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง มีแต้มต่อที่เหนือกว่าคนอื่น และรู้จักในตลาดดีพอ ก็เป็นความพร้อมที่สามารถส่งออกไปต่างแดนได้
ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com
171.96.76.211
Admin_support
ผู้ดูแล
chalermphol@qmlcorp.com