Admin_support
chalermphol@qmlcorp.com
สังคมปลอดเงินสด (Cashless society) (771 อ่าน)
16 ก.ค. 2559 22:05
สังคมปลอดเงินสด (Cashless society)
โดย พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันมีจำนวนประชากรกว่า 40% บนโลกใบนี้ที่กำลังออนไลน์ ด้วยจำนวนสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น
ผู้บริโภคจึงพึ่งพาอินเตอร์เน็ตในการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันมากขึ้น
นับตั้งแต่การเชื่อมโยงกับเพื่อนๆและครอบครัวตลอดจนการซื้อของและทำธุรกรรมทางธนาคาร
นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆยังขยายการใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ต
ในการดำเนินธุรกิจได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย ห่วงโซ่คุณค่าที่มีความซับซ้อน
และมีพลวัตรซึ่งประกอบไปด้วยผู้ประกอบการทั้งภายในประเทศ
และต่างประเทศได้พัฒนาการส่งมอบบริการดิจิทัลให้แก่ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆอย่างต่อเนื่อง
การปฏิวัติดิจิทัลอาจเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน
ทำให้การใช้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรมกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัย
ประเทศที่มีการพัฒนาด้าน Mobile broadband
จึงมีโอกาสในการนำร่องการพัฒนาบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่
ด้วยการที่มีประชากรวัยรุ่นจำนวนมากที่ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการด้านการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่และ e-commerce ซึ่งมีความก้าวหน้าทันสมัย
ระบบดิจิทัลจะกระตุ้นอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดการพัฒนา
เช่น บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ IoT
และ เทคโนโลยี Cloud computing แต่ละอุตสาหกรรมเหล่านี้
จะมีส่วนช่วยสร้างจีดีพีให้เติบโตขึ้นในหลายๆทาง
ตัวอย่างเช่น e-commerce สามารถกระตุ้นจีดีพีให้โตขึ้น
ได้โดยพัฒนาประสิทธิภาพในการขายที่มีอยู่ปัจจุบัน
ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมอุตสาหกรรมของคู่ค้าที่เกี่ยวข้องให้เติบโตขึ้น
เช่น ด้านโลจิสติกส์ และการชำระเงิน
สังคมปลอดเงินสด (Cashless society) ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จนทำให้การใช้เงินสดกำลังถูกแทนที่ด้วยระบบการชำระเงินดิจิทัลที่ได้มาตรฐาน
เที่ยงตรงและมีความปลอดภัยอย่างค่อยเป็นค่อยไป
พลเมืองในแต่ละประเทศจะมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าภูมิทัศน์การชำระเงินดิจิทัล (digital payment landscape)
ที่มีอยู่เต็มไปด้วยการชำระเงินผ่านทางเครื่องสแกนต่างๆ (Proximity payments
ที่เปิดใช้งานโดย NFC และ Apple Pay) การโอนเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
และกระเป๋าเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile wallets)
ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ได้มาตรฐานและใช้งานร่วมกันได้มากขึ้นในทศวรรษหน้า
ปัจจุบัน โซลูชั่นการชำระเงินดิจิทัลแบบใหม่จะค่อยๆเปลี่ยนรูปแบบการบริการทางการเงิน
และสุดท้ายจะช่วยให้ประเทศสามารถก้าวไปไกลเกินกว่าการใช้เงินสดได้ในที่สุด
ด้วยการเชื่อมต่อโดยตรงกับฐานผู้ใช้บริการกลุ่มใหญ่
ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถลดโครงสร้างต้นทุนของการธนาคารแบบเดิมได้
โดยลดความจำเป็นในการขยายสาขาธนาคาร
โทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละเครื่องสามารถกลายเป็น ธนาคารส่วนบุคคล
ที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆได้
โดยใช้แอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่
ธนาคารที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว (Internet-only bank)
ที่ให้บริการด้านต่างๆของธนาคารโดยไม่มีการจัดตั้งสาขา
กำลังเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก Fidor Bank, Charter Savings Bank, Atom
และอื่นๆได้เปิดดำเนินการแล้วในสหภาพยุโรป
ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการเปิดตัวธนาคาร
ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว (Internet-only bank) ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของประเทศ
110.168.230.125
Admin_support
ผู้ดูแล
chalermphol@qmlcorp.com