Admin_support

Admin_support

ผู้ดูแล

chalermphol@qmlcorp.com

  ตลาดใหม่ของ SME (1006 อ่าน)

4 เม.ย 2560 03:04



ในบรรดาประเทศกลุ่มอาเซียน บรูไน คือหนึ่งในประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองสูง และยังเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง คือ มีรายได้ต่อหัวมากกว่า 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และสูงเป็นลำดับที่ 20 ของโลก ด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีสูงมากนี้เอง ที่ทำให้บรูไนเป็นอีกหนึ่งตลาดการค้าที่น่าลงทุน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบรูไนนั้น มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปบรูไน ได้แก่ อุปกรณ์รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ น้ำตาลทราย ปูนซีเมนต์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง และผลิตภัณฑ์ยาง

ปัจจุบันบรูไนกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจจากที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันเป็นหลัก ไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่หลากหลายขึ้น ทำให้รัฐบาลบรูไนเร่งปรับเปลี่ยนและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ให้เติบโตมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจพลังงานซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศมายาวนาน เพื่อการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงในระยะยาว โดยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเน้นการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

จากแนวนโยบายนี้เองที่เอื้อต่อการลงทุนและทำให้บรูไนกลายเป็นตลาดที่น่าจับตา แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อจำกัดบางประการในแง่ของพฤติกรรมและวัฒนธรรมการบริโภคสินค้า คือ ในระยะยาวบรูไนยอมรับมาตรฐานสินค้าอาหารฮาลาลของมาเลเซียเท่านั้น แต่บรูไนก็ยังมีความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากการผลิตภายในประเทศยังไม่เชี่ยวชาญมากนัก ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ยังมีตลาดของธุรกิจร้านอาหารในบรูไนที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นตลาดใหญ่สำหรับธุรกิจร้านอาหารแนวสุขภาพ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคชาวบรูไนหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น

นายกฤชพิพัฒน์ รัตนพาณิชย์ ผู้ประกอบการจากบริษัท ฟูลฟิว อินเทลเลคชัน จำกัด ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำพริกกะปิ แบรนด์รุ่งเจริญ ไปขายในบรูไนมานานหลายปี เล่าถึงประสบการณ์ทำการค้าในบรูไนว่า สินค้าของเขาได้รับการต้อนรับในตลาดค่อนข้างดี เนื่องจากผู้บริโภคบรูไนมีพฤติกรรมการบริโภคบางอย่างคล้ายกับคนไทย คือ นิยมกินน้ำพริกร่วมกับผักสด ปลาและข้าว ซึ่งสินค้าของเขาสามารถขึ้นโต๊ะรับประทานคู่กับอาหาร Ambuyat ของบรูไนได้เป็นอย่างดี และยังมีร้านอาหารไทยหลายแห่งที่ชาวบรูไนให้การตอบรับที่ดีด้วย ซึ่งการนำน้ำพริกไปทำตลาดที่บรูไนนั้นจะต้องได้การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลก่อน ซึ่งสินค้าของเขาได้รับการรับรองแล้ว และยังได้มาตรฐานจีเอ็มพี และมาตรฐานความปลอดภัยนานาชาติจากเอชเอซีซีพี (HACCP) อีกด้วย

บรูไนนำเข้าสินค้าอาหารประมาณ 80% ผ่านมาจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งการขนถ่ายลำ (Transshipment) ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งออกไปบรูไนนั้นจะไปขนถ่ายที่สิงคโปร์หรือมาเลเซีย ซึ่งนำเข้าสินค้าไทยเข้ามาขายภายในประเทศ และอีกส่วนหนึ่งส่งต่อไปขายยังบรูไนที่มีเขตแดนติดกัน

สำหรับรูปแบบการลงทุนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จนั้น รัฐบาลบรูไนส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยตั้งเป้าหมายให้บรูไนเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจุบันปริมาณผลผลิตอาหารของบรูไนยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิต ที่ได้รับการยอมรับจากชาวบรูไน จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจด้านสินค้าอาหาร อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกิจการด้านอาหารและกิจการที่ต้องใช้ทรัพยากรภายในประเทศ เช่น เกษตรกรรมและการแปรรูปอาหาร กฎหมายบรูไนกำหนดให้ต้องมีนักลงทุนท้องถิ่นร่วมถือหุ้นในกิจการด้วย อย่างน้อยสัดส่วนร้อยละ 30 ดังนั้นนักลงทุนไทยจึงต้องหาผู้ร่วมทุนชาวบรูไน ซึ่งนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายการลงทุนของบรูไนแล้ว ยังเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงตลาดบรูไนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

ส่วนการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคชาวบรูไนนั้น จะนิยมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรามูลค่าสูงและสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าเป็นอย่างมาก แม้ว่ารสนิยมของชาวบรูไนอาจจะมีข้อจำกัดจากทางด้านวัฒนธรรมและกฎระเบียบรวมถึงข้อห้ามที่เคร่งครัด แต่ชาวบรูไนก็มีรสนิยมที่ค่อนข้างทันสมัยและอิงสไตล์ตะวันตก ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารนั้นจะค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย โดยนิยมอาหารฮาลาลตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวบรูไนค่อนข้างเชื่อถือในคุณภาพสินค้าอาหารจากสิงคโปร์และมาเลเซีย

นอกจากการส่งออกสินค้าไปบรูไนแล้ว หนึ่งในกลยุทธ์การประกอบธุรกิจในบรูไนที่น่าสนใจก็คือ ธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีร่วมทุนกับชาวบรูไน เพื่อเจาะตลาดและขยายกิจการเนื่องจากชาวบรูไนนิยมสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ โดยสินค้าเกษตรของไทยได้รับความนิยมจากชาวบรูไนเนื่องจากมีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน มีคุณสมบัติสอดคล้องกับกฎระเบียบของทางการ

แม้ว่าตลาดบรูไนจะเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่มีกำลังซื้อสูงและยังมีการแข่งขันค่อนข้างน้อย หากเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผู้ประกอบการไทยจึงมีโอกาสในการลงทุนสูง โดยเฉพาะธุรกิจภาคเกษตรและบริการ อันเป็นภาคธุรกิจที่นักลงทุนไทยมีความเชี่ยวชาญมากอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวบรูไนให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก นักลงทุนจึงควรแสดงความจริงใจและใส่ใจในมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างความไว้วางใจให้ตราสินค้า (Brand) ไทย ซึ่งแม้ว่าภาษาและวัฒนธรรมของบรูไนจะมีความแตกต่างจากไทย แต่จากการที่บรูไนได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความง่ายในการประกอบธุรกิจเป็นอันดับ 4 ของประเทศสมาชิกอาเซียน (ตามรายงาน Doing Business Report 2014: Understanding Regulations from SMEs ของธนาคารโลก) ก็แสดงให้เห็นว่าบรรยากาศการลงทุนและประกอบธุรกิจในบรูไนนั้น เอื้ออำนวยแก่นักลงทุนต่างชาติมากเพียงใด

ที่มา :http://www.bangkokbanksme.com

171.97.47.166

Admin_support

Admin_support

ผู้ดูแล

chalermphol@qmlcorp.com

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com