Admin_support

Admin_support

ผู้ดูแล

chalermphol@qmlcorp.com

  ททท.เลือก”น่าน”นำร่อง Creative (463 อ่าน)

15 ธ.ค. 2560 23:13

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดแคมเปญ Creative tourism district: เติมเต็มคุณค่าประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิต เลือกพื้นที่นำร่องสร้างแบรนด์ให้จังหวัด น่าน พร้อมดันเส้นทางท่องเที่ยว 8 theme เชิญชวนคนสัมผัสมนต์เสน่ห์วิถี น่าน…ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพันธ์

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดตัวแบรนด์แคมเปญการท่องเที่ยวใหม่จากโครงการพัฒนาย่านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Tourism District โดยนำร่องสร้างแบรนด์ให้จังหวัดน่านภายใต้แนวคิด “น่าน…ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพันธ์” พร้อมสร้างเส้นทางการท่องเที่ยว 8 คุณค่า เพื่อตอบโจทย์กลุ่มนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มอัตราการท่องเที่ยวให้จังหวัดน่าน และ สร้างต้นแบบการพัฒนาด้วยการสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง โดยได้รับความร่วมมือจากชาวน่านในหลายภาคส่วนทั่วทั้งจังหวัดและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว การสร้างแบรนด์ การตลาด การวิจัย การออกแบบประสบการณ์ลูกค้า กลายเป็นผลงานคุณภาพที่คนน่านภาคภูมิใจ หรือ “แบรนด์น่าน” ที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ และตัวตนที่จริงแท้อันลึกซึ้งของคนน่านในวิถีที่น่านเป็น โดยเน้นเรื่องคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะซึบซับ ก่อให้เกิดความรักและความผูกพันกับชุมชนอย่างง่ายดาย พร้อมการจัดกิจกรรม Business Matching and Showcase ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มชุมชนได้นำเสนอเรื่องราวความน่าสนใจของแบรนด์น่าน ทั้งในเชิงของอัตลักษณ์ สินค้า กิจกรรม หรือเส้นทางการท่องเทียวด้วยตัวเอง

เปิด น่าน มุมมองใหม่ จากจุดแข็งที่มีอยู่เดิม

ซึ่งในมุมมองเก่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวหลายกลุ่มมองว่าน่านนั้นเป็นจังหวัดรองในการเลือกไปท่องเที่ยว โดยมีจังหวัดหลักในการเลือกเที่ยวไว้ก่อนในละแวกใกล้เคียงกัน อันได้แก่ เชียงใหม่ หรือ เชียงราย เป็นต้น และมองว่าจังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่หากิจกรรมทำได้ยากซึ่งใช้เวลาแค่ 1-2 วันในการท่องเที่ยวก็เพียงพอ โดยที่ความจริงแล้ว จังหวัดน่านเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรครบถ้วน มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้ง วัดวาอาราม ธรรมชาติ ผจญภัย อาหารการกิน เกษตรกรรม หัตกรรม หรือแม้แต่วิถีชีวิตของชุมชนในจังหวัดน่านซึ่งเป็นวิถีที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และน่าไปสัมผัส โดยแบรนด์ใหม่ที่เกิดจากการร่วมมือในครั้งนี้ จึงมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสื่อสารถึงคุณค่าให้คนข้างนอกและนักท่องเที่ยวสามารถเห็นน่านในมุมมองต่างๆที่ไม่เคยเห็น และเลือกน่านเป็นจังหวัดหลักในใจของการมาท่องเที่ยว และใช้เวลาในน่านเพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในที่สุด นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวในขณะร่วมพิธีเปิดโครงการ

โดยในการพัฒนาแบรนด์น่านครั้งนี้ ททท. ได้ทำการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพรวมไปถึงการสัมภาษณ์คนในพื้นที่ทุกระดับตั้งแต่ผู้แทนส่วนราชการ สมาคม ต่างๆ เอกชน และคนในชุมชน รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป และกลุ่ม creative tourist ทั้งที่เคย มาน่านและ ไม่เคยมาน่าน ทั้งไทยและต่างประเทศ ถึงมุมมองที่มีต่อน่าน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาความต้องการที่ตรงกันที่คนน่านควรนำเสนอในเชิงการตลาด รวมถึงได้มีการทำ Co-Creation Workshop หรือการทำงานร่วมกันระหว่างชุน (Community) นักคิดสร้างสรรค์ (Creative People) นักการตลาด (Marketers) นักออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) นักออกแบบประสบการณ์และบริการ (Experience and Service Design) และ สถาปนิก )Architecture) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การท่องเที่ยวและบริการ นำมาซึ่ง โปรแกรมการเที่ยวใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหรือนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เพิ่มศักยภาพและโอกาสในการทำตลาดและการขายที่หลากหลาย (Market Appeal) ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน (Sustainable)

นำมาสู่แนวคิดแบรนด์ น่าน..ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพัน

และเพื่อให้น่าน สามารถเป็นที่เที่ยวที่ยิ่งมายิ่งสนุก ยิ่งอยู่ยิ่งผูกพัน โครงการ Creative Tourism District@Nan จึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวแต่ละคนสนใจและเป็นที่ที่สามารถตอบโจทย์ความชอบและให้คุณค่าทางจิตใจแก่นักท่องเที่ยวทุกประเภท เพื่อสร้าง Impression ในก้าวแรกที่เดินทางมาถึง และสร้าง Passion พร้อมต่อยอด Inspiration จากกิจกรรมที่ได้มาสัมผัส ก่อให้เกิดความผูกพันธ์ (Deep bond) ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวอยากที่จะเดินทางกลับมาอีกครั้งหากมีโอกาส และหลังจากที่โดรงการได้ทำการวิจัยด้วยวิธีการที่หลากหลายจึงได้นำมาสู่บทวิเคราะห์ถึงลักษณะของตัวจังหวัดน่าน ที่สามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้เกือบทุกรูปแบบไม่ว่าคนๆนั้นจะชอบความสนุกหรือหาความสุขจากกิจกรรมแบบไหน รวมถึงคนน่านเองที่มีลักษณะเป็นคนจริงใจ อบอุ่น และเอื้อเฟื้อ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้มาเยือนน่านหรือรู้สึกได้ถึงความเป็นญาติพี่น้อง สามารถสร้างความผูกพันกับชุมชนได้อย่างง่ายดาย

นอกจากนั้น ทางทีมงานของโครงการยังได้ทำการวิจัยเพื่อสำรวจพฤติกรรมกลุ่มคนที่รักการท่องเที่ยว โดยสามารถแบ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวออกได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้

Experience Explorer หรือ Unseen Seeker – คือนักท่องเที่ยวที่มีจุดประสงค์ในการท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆให้กับตนเอง และมองหาที่เที่ยวแบบ Unseen เพื่อหาความตื่นเต้นจากการเยือนสถานที่ใหม่ๆ ได้บุกเบิกสถานที่สวยงามก่อนคนอื่น

Story Consumer – นักท่องเที่ยวที่นิยมเสพย์เรื่องราวจากการท่องเที่ยว หรือแสวงหาความรู้ทางประวัติศาสตร์และที่มาของสิ่งรอบตัว

Physical Challenger – หรือนักท่องเที่ยวผู้แสวงหาความท้าทายให้กับชีวิตและชอบทดสอบความแข็งแกร่งของร่างกาย

Chaos Escaper – หรือนักท่องเที่ยวผู้ต้องการแสวงหาความความสงบ และต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายจากความตึงเครียดและภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน

Cultural Exchanger – หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบในการเรียนรู้วัฒนธรรมในที่ต่างๆที่ตนไปเยือน

Better than Never – หรือนักท่องเที่ยวที่ชอบไปเยือนที่ใดก็ตามที่ตนไม่เคยไป และพยายามแสวงหาที่เที่ยวใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองอยู่เสมอ

และด้วยความครบขอบของ”น่าน” นั้นเอง โดยหลังจากที่ทีมงานได้ทำการสำรวจเส้นทางและกิจกรรมรวมถีงทรัพยากรต่างๆโดยละเอียดแล้ว ผลลัพธ์ยิ่งปรากฏออกมาว่า “น่าน” มีสถานที่ท่องเที่ยวและรูปแบบกิจกรรมที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้รูปแบบ จึงเป็นที่มาของการแบ่งเส้นทางท่องเที่ยวตามสไตล์โดยออกแบบจากคุณค่าที่นั่งท่องเที่ยวแต่ละประเภทจะได้รับออกเป็น 8 Theme หรือ 8 คุณค่าดังนี้

Handcraft ซึ่งมุ่งเน้นการทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ โดยสิ่งที่ได้รับคือแรงบันดาลใจในการต่อยอดไอเดียสร้างสรรค์ โดยทริป Handcraft นี้ สามารถทำได้ทั้งการฝึกทอผ้าที่บ้านซาวหลวง เรียนปั้นหม้อดินที่บ่อสวก ทำเครื่องเงินหรือสบู่จากโกโก้ ที่ปัว

Agricultural หรือเกษตรกรรม สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเที่ยวแบบเกษตร โดยคุณค่าจากการท่องเที่ยวประเภทนี้ คือการหาความหมายของชีวิต และความสุขที่ยั่งยืน โดยสามารถไปพักโฮมสเตย์กลางท้องนา หรือร่วมทำนากับชาวบ้านได้ที่ นาซาว ศิลาเพชร

Adventure หรือแบบผจญภัย ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ชอบความตื่นเต้น โดยสิ่งที่ได้รับกลับไปคือการได้พิชิตความท้าทายและการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ โดยมีทั้งกิจกรรมเดินป่าล่ากาแฟเกอิชาพร้อมวิวทิวทัศน์อันสวยงามจากยอดเขาที่บ้านมณีพฤกษ์ หรือการล่องแก่งน้ำว้า ที่น้ำมวบ

Nature หรือการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ สำหรับนักท่องเที่ยวที่แสวงหาความบริสุทธิ์และความสวยงามแบบธรรมชาติ โดยจะได้รับความสงบและเป็นการหาความสงบหรือ Escape จากความวุ่นวายในเมือง โดยธรรมชาติอันสวยงามของน่านนั้นมีอยู่มากมายโดยเฉพาะที่ขุนสถาน ดอยผาผึ้ง และอีกมากมาย

Slow life หรือเที่ยวแบบชิว สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการปลดปล่อยเวลาให้กับบรรยากาศรอบตัว ซึ่งจะสามารถดื่มด่ำกับมนต์เสน่ห์วิถีน่าน และเป็นการรีชาร์จพลังให้กับชีวิต อาทิการนั่งจิบกาแฟพร้อมชมธรรมชาติได้ในร้านกาแฟทั่วเมืองน่าน หรือขี่จักรยานชมวิวสองข้างทางที่เวียงสา

Foodies สำหรับนักท่องเที่ยวสายกิน ทั้งอาหารพื้นถิ่นที่อร่อยตามวิถีน่าน พร้อมได้ลองทำจริงด้วยตนเอง สร้างประสบการณ์ใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวสายกินที่ชอบการเรียนรู้ อาทิการทำข้าวหลามที่ศิลาเพชร หรือลงนาจับปูทำน้ำปู๋ที่บ้านน้ำมวบ เป็นต้น

Story หรือการเที่ยวแบบเรียนรู้วัฒนธรรม เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่รักในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รวมถึงการเที่ยวให้ซึ้งถึงรากของอารยธรรม โดยสามารถค้นเรื่องราวเหล่านี้ได้ทั้งใน โฮงและวัดต่างๆ รวมถึงการทำตุงค่าคิง แกะสลักพระ หรือเขียนตั๋วเมือง เสมือนได้จำลองการทำกิจกรรมเหมือนชาวน่านในสมัยก่อนด้วยตนเอง

Local life หรือเที่ยวแบบวิถีชีวิต สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสลัดกิจกรรมความวุ่นวายในเมือง มาลองดำเนินและเรียนรู้วิถีชีวิตแบบชาวท้องถิ่น อาทิ ดูชีวิตของชาวบ้านสองฝั่งริมน้ำโดยการล่องเรือสายน้ำน่านที่เวียงสา ซึ่งเป็นคุณค่าเฉพาะตัวที่สามารถหาได้จากการอยู่อย่างชาวน่านเท่านั้น

แนวทางการโปรโมทความป็น น่าน…ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพัน

การสร้างแบรนด์น่าน จากโครงการ Creative Tourism District นั้นเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน ททท. จึงได้รับความร่วมมือในส่วนของการประชาสัมพันธ์จากกลุ่มชุมชนคนสร้างสรรค์จากแต่ละชุมชน มาระดมทีมทำงานร่วมกัน โดยมีกลุ่มครีเอทีฟ นักคิด นักเขียน นักออกแบบ โปรดิวเซอร์ Bloggers รวมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว (Travel Agency) กลุ่ม Travel Bloggers กลุ่ม influencers ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยว กลุ่ม creative tourist รวมไปถึงสื่อมวลชน ไปทดลองเที่ยวเพื่อประเมินความน่าสนใจ โดยความคิดเห็นและข้อมูลจากกระบวนการทั้งหมดได้ถูกนำมาใช้ในการออกแบบสร้างสรรค์ชื้นงานสื่อประชาสัมพันธ์ของแต่ละชุมชน ซึ่งจะถูกใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขาย และเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มคนที่กำลังสนใจจะเดินทางมาเที่ยวน่าน โดยสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลในการท่องเที่ยวน่าน จะมีตั้งแต่ โบรชัวร์ ซึ่งจะให้ข้อมูลทั้ง 2 ภาษาเพื่อความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เว็บไซต์ข้อมูลการท่องเที่ยว รวมทั้ง VDO clip แนะนำการท่องเที่ยวทั้ง 8 เส้นทาง

นอกจากนี้ ยังมีการโปรโมทผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ทั้ง ออนไลน์ และ ออฟไลน์ รวมถึงการช่วยประชาสัมพันธ์จากกลุ่ม Bloggers Influencers สื่อมวลชน กลุ่ม Travel Agency ต่างๆ อาทิ thaiguide.com, localalike.com รวมถึงสมาคมท่องเที่ยวต่างๆ เช่น สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว ATTA, สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย TEATA, และ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สทนซึ่งคาดว่าจะสามารถกระจายความเป็นแบรนด์น่านออกสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนมาสัมผัสความเป็นน่านที่ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพัน ร่วมกัน และสำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดในเบื้องต้นของแคมเปญ รวมถึงข้อมูลเส้นทางและการติดต่อสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในวิถี น่าน…ยิ่งเที่ยว ยิ่งสนุก ยิ่งผูกพันธ์ สามารถค้นหาได้แล้วที่เว็บไซต์ของโครงการ www.creativedistrictthailand.com และ Facebook: Creative District Thailand

ที่มา : https://www.smartsme.co.th

58.11.58.96

Admin_support

Admin_support

ผู้ดูแล

chalermphol@qmlcorp.com

ตอบกระทู้
CAPTCHA Image
Powered by MakeWebEasy.com