โครงการเมกะโปรเจคต์

Last updated: 23 ม.ค. 2560  |  2924 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โครงการเมกะโปรเจคต์




ภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างปี 2560 มีแนวโน้มสดใสอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ มาตั้งแต่ ปี 2559 มูลค่ากว่า 1.79 ล้านล้านบาท และลงทุนยาวต่อเนื่องไปถึง 2560 ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ารวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งช่วยให้มีสัญญานของการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ธุรกิจก่อสร้างปีระกาอู้ฟู่รับอานิสงค์โครงการเมกะโปรเจคต์

เมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2559 พบว่ามีการฟื้นตัวมากกว่าในช่วงต้นปี ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ ) คาดการณ์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ปี 2559 จะขยายตัวถึง 3.2% และใน ปี 2560 จะขยายตัว 3-4% โดยมีโอกาสที่จะขยายตัวเฉลี่ยที่ 3.5%

ประกอบกับ การผลิดอกออกผลของมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ทั้งการปรับลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง การสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ล้วนแต่จะเป็นแรงเสริมความมั่นใจให้การลงทุนในธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างขยายตัวได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากความต้องการซ่อมแซมและตกแต่งที่อยู่อาศัยหลังจากจากการประสบภัยทางธรรมชาติในหลายๆพื้นที่ ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนี้อาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงบ้างในด้านของกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงมีความกังวลกับภาวะเศรษฐกิจ ภาระหนี้สินครัวเรือน และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งการเติบโตของตลาดวัสดุก่อสร้างค่อนข้างขึ้นอยู่กับความชัดเจนและสัญญาณเชิงบวกในการผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในระยะต่อไป

ยอดตั้งธุรกิจก่อสร้าง พุ่ง 23%
ทั้งนี้ ภาพรวมของธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง ในปี 2559 จากข้อมูล กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ใน เดือนกันยายน 2559 มีจำนวนจดจัดตั้งธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง 138 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 อีก 26 ราย คิดเป็น 23% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ก.ย.58) มีจานวนเพิ่มขึ้น 33 ราย คิดเป็น 31% ส่วนมูลค่าทุนจดทะเบียนเดือนกันยายน เท่ากับ 195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2559 อีก 35 ล้านบาท คิดเป็น 22% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ก.ย.58) 53 ล้านบาท คิดเป็น 37% ส่งผลให้ปัจจุบันมีธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างที่ดำเนินกิจการอยู่ (30 ก.ย. 59) 16,090 ราย

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุนธุรกิจนี้ แยกตามสัญชาติ พบว่า มูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นของธุรกิจ 126,268 ล้านบาท แบ่งเป็น สัญชาติไทย 104,405 ล้านบาท คิดเป็น 83% และต่างชาติ 21,823 ล้านบาท คิดเป็น 17% ของมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น 2,416 ล้านบาท คิดเป็น 11% รองลงมา ได้แก่ จีน 2,229 ล้านบาท คิดเป็น 10% เกาหลี 507 ล้านบาท คิดเป็น 2% และสิงคโปร์ 371 ล้านบาท คิดเป็น 2% ตามลาดับ เพราะนักลงทุนต่างชาติมองว่าตลาดยังคงมีแนวโน้มเติบโต เพื่อรองรับโครงการใหญ่เมกะโปรเจกต์ในอนาคต

เอกชนตัวท็อปชี้โอกาสธุรกิจยังสดใส
สอดรับความเห็นของ “นายราจีฟ มังกัล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ (TSTH) กล่าวว่า ปริมาณการขายเหล็กเส้นและเหล็กลวดในงวดประจำปี 2559-60 (เม.ย. 59 – มี.ค. 60) จะอยู่ที่ 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8-10% จากงวดปี 58/59 ที่มีปริมาณการขายรวม 1.17-1.18 ล้านตัน เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ทั้งรถไฟฟ้าสายต่างๆ และโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทางถนน และการพัฒนาท่าเรือ จะส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตลาดส่งออกที่เติบโตตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงห่วงผลกระทบจากการแข่งขันกับเหล็กลวดนำเข้าจากจีน ราคาต่ำที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 จำนวน 668,000 ตัน ถึงแม้จะมีการออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ผู้นำเข้าได้ใช้ประโยชน์จากรายการยกเว้นทางภาษี ทำให้เกิดผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในประเทศ

เอสซีจี ชี้ ตลาดปูนกระเตื้อง
ด้านนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศ ปี 2559 มีอัตราการเติบโตติดลบเล็กน้อย และอยู่ในภาวะทรงตัวมาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากการใช้ปูนซีเมนต์ส่วนใหญ่มาจากภาคธุรกิจที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันสังคมมีการสร้างครอบครัวและมีบุตรน้อยลงประกอบกับปัญหาที่ดินราคาสูง ผู้บริโภคจึงต้องการที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก การใช้ซีเมนต์เพื่อก่อสร้างจึงน้อยลงตามไปด้วย

แต่สำหรับใน ปี 2560 มองว่ามีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อย นั่นคือเติบโตเท่ากับจีดีพีของประเทศ เพราะจากแผนการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น คิดเป็นสัดส่วนการใช้ปูนซีเมนต์ ประมาณ 2.5% หรือ 500,000 – 1 ล้านตัน นอกจากนี้ การลงทุนของภาครัฐยังส่งผลให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงตามมา ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ลงทุนเพิ่มตามการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยัง ต้องจับตาหลังการประมูลงานก่อสร้างภาครัฐแล้วจะดำเนินการได้ตามแผนทันทีหรือไม่ เพราะบางครั้งอาจต้องใช้เวลากว่า 6 เดือนจึงจะเริ่มสร้างจริง

รับเหมาภาครัฐมีหวัง-รับเหมาเอกชนยังซึม
นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าวว่า ผลจากปี 2559 ที่ภาครัฐได้ประมูลงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้บริษัทรับเหมามีงานในมือต่อเนื่องไปอีก 2 ปี และปี 2560 รัฐบาลยังมีแผนประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานอีก จึงมองว่าบริษัทรับเหมาที่เน้นงานโครงสร้างพื้นฐานจะยังมีงานในมือเพิ่มขึ้นอีก 50% เทียบปีก่อน แต่ยังกังวลเกี่ยวกับงบประมาณของภาครัฐอาจมีไม่เพียงพอที่จะผลักดันการประมูลตามแผนในปี 2560

ขณะที่ในส่วนของธุรกิจบริษัทรับเหมาภาคเอกชน ในปี 2559 ซบเซาลงไปกว่า 50-60% ในทุกๆ เซคเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และศูนย์การค้า และคาดว่าปี 2560 จะยังคงซบเซาต่อเนื่องจาก ภาวะโอเวอร์ซัพพลายในตลาดคอนโดมิเนียม และที่ดินราคาแพงขึ้น จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่ก่อสร้างจึงลดน้อยลง และธุรกิจศูนย์การค้าเข้าสู่จุดอิ่มตัว รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม

ที่มา : http://www.bangkokbanksme.com/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

(MOBILE TECHNOLOGY

5 ก.ย. 2561

Call to Action

16 ก.ย. 2561

GooGreen START UP

16 ก.ย. 2561

Powered by MakeWebEasy.com