เกษตรกรไทยยุค THAILAND 4.0

Last updated: 9 ต.ค. 2559  |  9352 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เกษตรกรไทยยุค THAILAND 4.0

iso-conult-sme-clinic_thailand-4.0

SME Clinic โดยธนาคารกรุงเทพ กับหัวข้อ “เกษตรกรไทยยุค THAILAND 4.0” โดย ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการคนกล้าคืนถิ่น จะมาให้ความรู้และตอบคำถามที่ว่า ประเทศไทยซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 นั้น ภาคการเกษตรจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไร? ความหมายที่แท้จริงของ Smart Farmer คืออะไร? และเกษตรกรไทยจะสามารถเป็น Smart Farmer ได้หรือไม่? SME Clinic หัวข้อนี้มีคำตอบ
ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ เปิดประเด็นด้วยที่มาของคำว่า Smart Farmer
“จุดเริ่มต้นหรือที่มาส่วนหนึ่งของ Smart Farmer คือคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ เรียนจบระดับปริญญา แล้วกลับไปที่บ้าน ไปดูแลพื้นที่เกษตรที่ตัวเองมีอยู่ ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือผันตัวเองมาเป็นเกษตรกร เนื่องจากกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกร เพื่อที่ให้จะสู้กับความเปลี่ยนแปลงในสังคมซึ่งทำกันมานานมาก แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุมาจากการทำที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดคนสานต่อ ไม่มีศักยภาพ และคนกลุ่มนี้นั่นเองที่จะมีศักยภาพพอกลับไปต่อยอดและสานต่อจนประสบความสำเร็จได้”

“วิถีเกษตรเป็นวิถีพื้นฐาน จะเป็นนักออกแบบ เป็นวิศวกรก็ได้ นักร้อง หรืออาชีพอะไรก็ได้ แต่มีฐานเป็นวิถีเกษตรก็สามารถอยู่ได้ เพราะถือว่าเป็นรากแก้วของสังคมไทย และต้องเป็นวิถีเกษตรที่ไม่ทำลาย มีความยั่งยืนและพึ่งพาธรรมชาติได้จริง ลักษณะเช่นนี้ก็คือ Smart Farmer อย่างแท้จริง”

ดร.สุมิท กล่าวถึงสาเหตุที่หลาย ๆ คนในทุกวันนี้อยากกลับไปใช้ชีวิตในวิถีเกษตรหรือกลับไปที่บ้านเกิดนั้น ว่ามาจากเหตุผลของแต่ละคน อาจเป็นการได้กลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของหลาย ๆ คนที่เข้ามาอยู่ในเมือง เพราะการใช้ชีวิตในเมืองไม่ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การใช้ชีวิต หรือจะเป็นในเรื่องของอิสรภาพ ซึ่งอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีอิสรภาพที่สุด จะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร สามารถวางแผนการทำงานได้ และนอกจากนั้นยังสามารถไปทำอาชีพอย่างอื่นได้อีกด้วย ซึ่งก็สอดคล้องกับที่เอ่ยไว้ตอนต้นว่า วิถีเกษตรเป็นฐานของอาชีพอะไรก็ได้”

“ซึ่งการที่จะเป็น Smart Farmer นั้นสามารถค่อย ๆ เริ่มทำไปได้ ไม่จำเป็นต้องทิ้งสิ่งที่ทำอยู่ไปเลย เริ่มตามความเหมาะสมของตนเองได้ เช่น มีเวลาวันเสาร์-อาทิตย์ หรือมีเวลาแค่ช่วงเย็น ก็ทำแค่นั้นไปก่อน วิถีเกษตรสามารถเริ่มได้ทุกที่ทุกเมื่อตามบริบท ไม่จำเป็นต้องให้ได้เหมือนคนอื่น เริ่มจากสิ่งที่ตัวเองมี มีพื้นที่เท่านี้ มีเวลาเท่านี้ มีความรู้เท่านี้ ก็ทำเท่าที่มี ซึ่งสามารถเริ่มได้ทุกคน” ดร.สุมิท กล่าว

ส่วนความหมายของคำว่า Smart Farmer ที่แท้จริงนั้น ดร.สุมิท มองว่าอยู่ที่มุมมองของแต่ละองค์กรหรือหน่วยงาน “แล้วแต่ว่าองค์กรไหน หน่วยงานไหนพูดถึง ซึ่งเป็นไปตามจริตของหน่วยงานหรือองค์กรนั้น หลายคนก็พูดถึง Smart Farmer ในบริบทเหมือนเป็นผู้ประกอบการ มีความรู้ มีการวางแผน หรือมีรายได้เยอะ ซึ่งก็ถือว่าเป็น Smart Farmer ถ้าเป็นอย่างมุมมองของธนาคารก็อยากให้ Smart Farmer ร่ำรวย มีความสามารถในการบริหารเงิน เพื่อจะได้ไม่มีหนี้เสีย ซึ่งก็เป็น Smart Farmer ในอีกมุมหนึ่งที่คิดแบบธนาคาร แต่ในความหมายที่เราต้องการนั้น หากจะเป็น Smart Farmer ต้องเข้าใจธรรมชาติ หมายถึงการที่ต้องลงทุนลงแรงน้อย ให้ธรรมชาติช่วยเยอะ ๆ ก็คือการไม่ทำร้ายธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ทำแล้วต้องสบายขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย เช่น การมีพื้นที่เล็ก ๆ แต่สามารถออกแบบให้ปลูกแบบผสมผสานและเกื้อกูลกันได้”

สรุปสุดท้ายก็คือ ความหมายของ Smart Farmer นั้นอยู่ที่มุมมองของใคร บางคนมองว่า Smart Farmer ต้องใช้เทคโนโลยีเป็น ซึ่งก็ถูกต้อง เพราะคนที่จะเป็น Smart Farmer ต้องเชื่อมโลกได้เอง Smart Farmer ต้องเข้าใจตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ เข้าใจธรรมชาติ และเข้าใจเทคโนโลยี รวมถึงที่บางคนมองว่าต้องมีนวัตกรรม ซึ่งก็ใช่ เรียกว่าแล้วแต่มุมมอง แต่ก็สู่จุดหมายเดียวกัน คือให้เกษตรกรไทยมีศักยภาพมากขึ้นนั่นเอง”

จากนั้นในประเด็นเกษตรกรไทยในยุค 4.0 ดร.สุมิท ได้อธิบายว่า
“ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี หรือจะเป็นยุค 4.0 หรืออนาคตที่ไกลกว่านั้น ภาคการเกษตรจะเป็นภาคส่วนที่ก้าวได้ช้าที่สุด เพราะ 4.0 ที่ทุกคนพูดถึงจะเป็นในเรื่องของนวัตกรรม และการเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้ในวิถีเดิม ๆ ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การหาข้อมูล หรือในส่วนอื่นที่จะเป็นประโยชน์ มองว่าหากจะไปถึง 4.0 ยังต้องปูพื้นอีกเยอะ ในเชิงความหมายหลายคนอาจพูดถึง 4.0 แต่ในทางปฏิบัตินั้นอะไรคือ 4.0 ภาคเกษตร ต้องเห็นชัดเจนในเชิงปฏิบัติ และที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรเขาถึงจะเป็น 4.0 ได้”

ส่วนการที่จะให้ภาคเกษตรไปถึง 4.0 ได้นั้น ดร.สุมิท ให้เหตุผลว่า อย่างแรกต้องเตรียมพร้อมให้เกษตรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ ต่อมาคือต้องเชื่อมโลกได้ คืออยู่กับสังคมโลกในยุคต่อไปได้ เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก ต้องเน้นว่าจะอยู่กับการเปลี่ยนแปลงได้ ตัวเองต้องรู้อะไร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง เช่น ต้องเข้าใจธรรมชาติ มีความรอบรู้ ศึกษางานวิจัย หรือรู้จักทดลองและค้นคว้า ซึ่งหากมีคุณสมบัติเหล่านี้จะสามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้

สรุปก็คือ การจะเข้าถึง 4.0 ต้องเข้าใจแม้กระทั่งขั้นตอนการวิจัย มีองค์ความรู้มากพอที่จะทดลองจนเข้าใจ คือการเป็นเกษตรกรต้องเข้าใจป่า ดิน น้ำ พันธุกรรม จุลินทรีย์ เทคโนโลยี หากมีองค์ความรู้พวกนี้ครบก็สามารถอยู่ในยุค 4.0 ได้”

“ส่วนวิธีที่จะทำให้เขาเป็นได้นั้น ก็ต้องมีการปลูกฝัง เราไม่สามารถไปสอนได้ทุกเรื่องในรายละเอียด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำก็คือ ฝึกให้เขาตื่นรู้ ค้นหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง เป็นนักทดลอง จากนั้นก็ต้องทำให้เขาเชื่อมโยงกันในกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกัน มีเครือข่ายถึงกัน สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารได้ หากครบตามองค์ประกอบที่กล่าวมา ไม่ว่าธรรมชาติจะเปลี่ยนไปอย่างไร เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็จะสังเกตและติดตามได้ หรือก้าวทันโลกนั่นเอง” ดร.สุมิท กล่าวสรุปในประเด็นเกษตรกรไทยในยุค 4.0

และสำหรับประเด็นคำถาม Smart Farmer มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับการเป็นผู้ประกอบการ ดร.สุมิท ทิ้งท้ายไว้ว่า“Smart Farmer ที่จริงแล้วก็คือผู้ประกอบการ เป็น SME ตัวจริงของแท้ดั้งเดิมของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ไม่ถูกรวมเป็น SME มาตั้งแต่ต้น เพราะเกษตรกรนั้นมีหลายประเภท ตั้งแต่เป็นผู้ผลิตอย่างเดียว หรือผลิตด้วย แปรรูปด้วย หรือแปรรูปแล้วส่งให้คนอื่นขายเป็น OEM แม้กระทั่งทำครบวงจรเลยก็มี ดังนั้น Smart Farmer ก็ควรมีคุณสมบัติความเป็นผู้ประกอบการด้วยถึงจะประสบความสำเร็จได้”

หมายเหตุ : OEM หมายถึง การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ
ที่มา : http://www.bangkokbanksme.com

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

GooGreen START UP

16 ก.ย. 2561

Call to Action

16 ก.ย. 2561

(MOBILE TECHNOLOGY

5 ก.ย. 2561

Powered by MakeWebEasy.com