Startup คืออะไร?

Last updated: 27 พ.ย. 2559  |  3442 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Startup คืออะไร?

Startup = การเติบโตที่รวดเร็ว (Growth)

ทุกวันนี้คำว่า “Startup” ได้เกิดขึ้นและพุ่งแรงในประเทศไทยจนกลายเป็นธุรกิจกระแสสำหรับคนรุ่นใหม่ และไม่ว่าใครที่เริ่มทำธุรกิจเทคโนโลยีก็ต่างเรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่าเป็น “Startup”

แต่แท้จริงแล้ว เคยสงสัยกันไหมว่า สรุปแล้ว… “Startup คืออะไร?” และทำไมจะต้องมีศัพท์บัญญัติธุรกิจนี้ขึ้นมาแทนคำว่า “SME”

ทำไมเว็บค้าขายออนไลน์บางที่ถูกเรียกว่าเป็น “Startup” ทั้งๆที่มันก็ดูเป็นเหมือนเว็บขายของออนไลน์ธรรมดาๆ แล้วบริษัทเกิดใหม่ทุกบริษัทมันคือ “Startup” เหมือนกันหมดหรือไม่ เพราะคำว่า “Startup” แปลตรงตัวก็น่าจะแปลว่า “ธุรกิจเกิดใหม่” ไม่ใช่หรือ?

สำหรับผมแล้วที่ติดตามธุรกิจเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก จริงๆแล้วก็ใช้เวลาศึกษาคำว่า “Startup” มาหลายปีเหมือนกัน จนได้มาประกอบธุรกิจของตนเองทั้งแบบที่คิดว่าเป็น “SME” และ แบบที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็น “Startup” นั้น ผมคิดว่าคำนิยาม “Startup” ที่ดีที่สุดนั้นมาจากนาย Paul Graham จาก Y Combinator ศูนย์บ่มเพาะชื่อดัง Top 5 ของโลกในสหรัฐอเมริกา ที่ได้เขียนไว้ในบทความไว้ว่า “Startup = Growth” หรือ “การเติบโต” นั่นเอง โดย Startup ที่ดี จะต้อง “โตเร็ว”

Startup vs. SME

ธุรกิจ Startup คือธุรกิจที่ถูกออกแบบมาให้เติบโตอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ทีมงาน โครงสร้างธุรกิจ ไปจนถึงวิธีการใช้เงิน และการทำตลาด โดยไม่ได้เกี่ยวข้องว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่เป็น “ธุรกิจเทคโนโลยี” หรือได้รับการลงทุน หรือ “Venture Capital” หรือมีการ “Exit” ผ่านการควบกิจการหรือการเข้าตลาดหุ้นแต่อย่างใด

ในขณะที่ธุรกิจ “SME” (Small Medium Enterprises) หรือที่สมัยนี้มักเรียกว่า “SMB” (Small Medium Businesses) นั้นมักจะมีเป้าการดำเนินการธุรกิจให้มีรายได้เติบโตอยู่ที่ประมาณปีละ 30%-50% หรือหากเป็นช่วงเกิดใหม่ก็อาจอยู่ที่ปีละ 100%-200% เป็นอย่างมาก ธุรกิจ Startup นั้นมีเป้าหมายที่จะเติบโตขึ้นให้ได้อย่างน้อยปีละ 1,000% โดยหากได้น้อยกว่านั้น ถือว่าธุรกิจ Startup นั้น “ยังไม่โต” หรืออาจถึงขั้น “ไปไม่รอด” ในฐานะ Startup ก็ว่าได้

ดังนั้น ไม่ใช่ว่าธุรกิจทุกประเภทที่จะเป็น “Startup” ได้ ยกตัวอย่างเช่นธุรกิจบริการอย่างเช่นร้านอาหาร ธุรกิจสปา หรือช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่มีข้อจำกัดในการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะต่อให้ร้านอาหารได้รับความนิยมเพียงใด หรือช่างที่มีฝีมือจะเป็นที่ต้องการแค่ไหน ธุรกิจเหล่านั้นก็จะมีข้อจำกัดทางด้านกายภาพที่ยากที่จะเอาชนะได้อย่างสถานที่ตั้ง และพื้นที่ที่สามารถให้บริการและทำตลาดได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าธุรกิจดังกล่าวนั้นจะไม่ใช่ธุรกิจที่ดีแต่อย่างใด เพราะการทำธุรกิจแบบ “กำไร > ต้นทุน” ตามที่กล่าวมานั้นก็คือการทำธุรกิจแบบที่มีมาแต่ช้านาน ที่สร้างนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีฐานะแบบไม่ต้องพึ่งพาอาศัยใครมาตลอดเวลาที่ผ่านมา และเป็นวิธีการทำธุรกิจแบบ “SME” ที่เราคุ้นเคย

Paul Graham ได้อธิบายไว้เพิ่มเติมว่า ธุรกิจที่จะสามารถเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติสองอย่างคือ 1) ทำธุรกิจที่นำเสนอสิ่งที่เป็นที่ต้องการของตลาดที่มีขนาดใหญ่ และ 2) มีความสามารถในการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่นั้นได้

SME ที่ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนใหญ่แล้วมีความสามารถในการสร้างสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการได้ แต่ไม่ได้มีทรัพยากรหรือความสามารถในการที่จะทำตลาด ขาย และจัดจำหน่ายสิ่งที่ตัวเองสร้างให้คนทั้งกลุ่มนั้นได้เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์ร้่านหนึ่ง อาจมีความสามารถในการออกแบบสินค้าที่คนจำนวนมากในโลกนี้ชอบและต้องการใช้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนทั่วโลกนั้นจะเดินทางมาหาร้านเฟอร์นิเจอร์ร้านนี้เพื่อทำการซื้อไปใช้ที่บ้าน หรือต่อให้เป็นเช่นนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าร้านเฟอร์นิเจอร์นี้ จะมีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ทันเท่ากับความต้องการของคนทั่วโลกได้อย่างตลอดเวลา

แต่เมื่อโลกเราเข้ายุคของอินเทอร์เน็ตที่มีความสามารถในการเข้าถึงคนหมู่มากได้ในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับการทำธุรกิจในสมัยก่อนนั้น ทำให้เกิด “โอกาสทางธุรกิจ” และ “ผู้ประกอบการ” ที่มีความกระหายที่จะใช้ประโยชน์ของช่องทางใหม่นี้ในการเข้าถึงคนให้กว้างขึ้นและเร็วขึ้น และมีโอกาสที่จะทำได้ทั้งเรื่องของ 1) สร้างสิ่งที่คนจำนวนมากต้องการ และ 2) จัดจำหน่ายมันให้ทั่วถึงคนเหล่านั้น เพราะสิ่งที่นำเสนอนั้นอาศัยอยู่บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้วโดยทุนเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำธุรกิจเทคโนโลยีโดยอาศัยการเขียนโปรแกรมหรือซอฟท์แวร์ที่อาศัยและจัดจำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของการจัดจำหน่ายได้ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเทคโนโลยีทุกตัวนั้นจะเป็น Startup เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น เว็บชุมชนออนไลน์สำหรับคนรักกิ้งก่าในประเทศไทย อาจจะสามารถเข้าถึงคนรักกิ้งก่าในประเทศไทยได้ทั้งหมด แต่อาจไม่ใช่ขนาดตลาดที่จะสามารถเติบโตเป็น 1,000% ต่อปีได้อย่างต่อเนื่องจนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท

แต่ข้อดีของอินเทอร์เน็คที่เปิดโอกาสให้ใครๆก็สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้นั้น ก็ย่อมหมายความว่าจะมีคนแย่งชิงตลาดกับเรามากขึ้นเช่นกัน ยิ่งตลาดใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งมีคนแย่งเรามากขึ้นเท่านั้น และเราก็จะต้องทำการแข่งขันกับธุรกิจเหล่านั้นทั้งหมด ต่างจากธุรกิจแบบ SME แบบดั้งเดิม ที่อาจจะต้องแข่งกับร้านค้าที่ตั้งร้านอยู่ทำเลที่ใกล้เคียงกันเท่านั้นเอง

นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ Startup ต้องโตเร็ว

การสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการโตเร็วนั้น อาศัยวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ไม่ได้มีสอนในหลักสูตรบริหารธุรกิจที่ไหน และต้องอาศัยเครื่องมือทางการเงินและการบริหารองค์กรที่แตกต่างจากธุรกิจ SME แบบที่เคยมีมา อย่างเช่นการวางโครงสร้างองค์กรและแผนการใช้เงินที่เน้นสร้างฐานเพื่อรองรับการทำกำไรอีกทีในอนาคต นี่จึงเป็นเหตุผลที่ก่อให้เกิดวงการนักลงทุน ที่เข้ามาให้ทุนกับบริษัท Startup เพื่อหวังผลตอบแทนในอัตรา 50-100 เท่าของการลงทุน เพราะรับความเสี่ยงสูงจากการให้ทุนหลายสิบล้านบาท ต่างจากธนาคารที่ไม่มีวันแม้แต่จะปล่อยกู้ให้กับธุรกิจที่ยังแทบไม่มีลูกค้าหรือรายได้เป็นของตนเอง

และเมื่อเครื่องมืออำนวยการเติบโตเหล่านี้มีความพร้อมมากขึ้น จากสมัยก่อนที่อาจใช้เวลา 20-30 ปีในการสร้างธุรกิจมูลค่าพันล้าน ในปัจจุบัน มีบริษัทเกิดใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าได้เร็วขึ้นว่าที่เคยมีมา โดยใช้เวลาเพียง 10, 5, หรือ 2 ปีในบางกรณีด้วยซ้ำ

ที่มา : http://lertad.com

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Call to Action

16 ก.ย. 2561

(MOBILE TECHNOLOGY

5 ก.ย. 2561

GooGreen START UP

16 ก.ย. 2561

Powered by MakeWebEasy.com