กฎหมายที่ต้องรู้ สินค้าออนไลน์

Last updated: 25 ต.ค. 2559  |  16660 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กฎหมายที่ต้องรู้ สินค้าออนไลน์

บรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SME) มักบ่นว่ากฎหมายธุรกิจเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก เข้าถึงยาก จนเกิดเป็นอคติในใจ ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ หรือทำธุรกิจให้ถูกต้องตามระเบียบของราชการได้ เพราะเบื่อกับการต้องเรียนรู้ข้อกฎหมายที่มีขั้นตอนยุ่งยาก หรือแย่ไปกว่านั้นคือ การไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย ต้องไปจ้างนักกฎหมาย ทำให้งบประมาณบานปลายยากที่จะควบคุม SCB SME จึงได้รวบรวมกฎหมายเบื้องต้นสำหรับ SME มาเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ศึกษาเรียนรู้ และทำความเข้าใจกันแบบง่าย ๆ

ความหมายของคำว่า “ธุรกิจ” ตามกฎหมายคือ กิจการงาน การค้า การติดต่อซื้อขายเพื่อแสวงหาผลกำไรและต้องตั้งอยู่บนหลักมนุษยธรรม ขณะที่กฎหมาย คือ ข้อบังคับของบ้านเมือง กฎเกณฑ์การปฏิบัติที่รัฐตราขึ้นเพื่อใช้บังคับบุคคล เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน รวมถึงความเสมอภาคในการรับภาระในการเสียภาษี

เรียนรู้กฎหมายเบื้องต้นสำหรับ SME
การทำธุรกิจเบื้องต้น ผู้ประกอบการจะต้องมีการดำเนินการจัดตั้งธุรกิจขนาดย่อม โดยรูปแบบขององค์กรธุรกิจขนาดย่อมมีดังนี้

1, กิจการเจ้าของคนเดียว
2, กิจการแฟรนไชส์
3. บริษัทจำกัด
4. ห้างหุ้นส่วน ซึ่งห้างหุ้นส่วนจะแบ่งออกเป็น ห้างหุ้นส่วนสามัญ และห้างหุ้นส่วนจำกัด

โดยจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น เงินทุน ความเสี่ยง กฎหมาย ภาษี อำนาจในการตัดสินใจ และแนวทางการขยาย หรือเลิกกิจการ หลังจากพิจารณารูปแบบการดำเนินการจัดตั้งธุรกิจขนาดย่อมแล้ว ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษากฎหมายที่จะควบคู่มากับประเภทของธุรกิจนั้นๆแต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้กฎหมายเบื้องต้นสำหรับทุกธุรกิจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ประกอบด้วย

1. ภาษีเงินได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กิจการร้านค้าที่จดทะเบียนเป็นทะเบียนพาณิชย์ ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 ในครึ่งปีแรก และยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 อีกครั้งในครึ่งปีหลัง โดยคิดจากรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว
ภาษีเงินได้นิติบุคคล : ธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ต้องยื่น ภ.ง.ด.51 ในกลางปี เพื่อประเมินรายได้ และยื่น ภ.ง.ด.50 ในยื่นงบประมาณการณ์ทั้งปี พร้อมส่งงบดุล และมีการตรวจสอบบัญชี

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยถ้าเป็นทะเบียนพาณิชย์ ที่มีรายได้เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี หรือเป็นธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.01) เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ ซึ่งสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th)

3. การออกใบกำกับภาษี

เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำและออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้า หรือรับบริการในแต่ละครั้ง

4. ประกันสังคม

กรณีที่ผู้ประกอบการมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป จะต้องยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ซึ่งแต่ละเดือน นายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยนำส่ง 2 ส่วน คือ ในส่วนของลูกจ้าง (ทุกคน) หักนำส่งในอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือน (สูงสุดไม่เกิน 750 บาท) และเงินสมทบส่วนของนายจ้างเท่ากับส่วนของลูกจ้างทุกคน ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม (www.sso.go.th)

ขายของออนไลน์ต้องรู้กฎหมายอะไร

ปัจจุบันมีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ทุกคนจึงกลายเป็น SME ขนาดย่อมๆ ไม่ว่าคุณจะขายของผ่านเว็บไซต์ที่มีบริการจัดไว้ให้ หรือเลือกโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียของตัวเอง อย่าง เฟซบุ๊ก อินสตราแกรม หรือไลน์ เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ก็จะมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน และเพื่อลดความเสี่ยงในการทำผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการ SME ออนไลน์ควรจะต้องทำอะไรบ้าง มาดูกันเลย

1. การขายของผ่านทางเว็บไซต์
ต้องจดทะเบียนการตลาดแบบตรง ต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ส.ค.บ.) ให้ถูกต้องก่อนดำเนินกิจการ เพื่อให้เป็นไปอย่างโปร่งใส หากไม่ปฏิบัติตามจะมีฐานความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงการปรับอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ถูกต้อง

2. การขายสินค้าพรีออเดอร์
บางรายประกอบธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทย ทำให้ต้องดำเนินการด้านภาษีศุลกากรให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีโดยจะถูกปรับเงินเป็นจำนวน 5 เท่าของราคาสินค้า

3. การจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ไว้ให้ถูกต้องก่อนการจำหน่าย เนื่องจากความผิดจากการขายอาหารที่ไม่มีฉลาก จะถูกโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท

4. การขายเครื่องสำอาง
ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ให้ถูกต้องก่อนการจำหน่าย เพราะถ้าหากพบฉลากที่ไม่ถูกต้อง หรือการแสดงฉลากไม่ครบถ้วน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. การขายของออนไลน์
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีเพื่อเสียภาษี มิฉะนั้นอาจจะโดนทั้งเงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับออนไลน์ควรศึกษาพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ หรือฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นด้วย เนื่องจากการซื้อ-ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์มีเรื่องธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมบนอิเล็กทรอนิกส์มาเกี่ยวข้อง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษาส่วนนี้เพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจยังเกิดข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับกฎหมาย SCB SME จึงได้รวบรวมแหล่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการลองไปซักถามในจุดที่ยังสงสัยกัน
- ปรึกษากฎหมายฟรี (https://www.facebook.com/asklaw/)
- ที่ปรึษากฎหมาย (http://www.ที่ปรึกษากฎหมาย.com/)
- ที่ปรึกษากฎหมายทั่วไป (http://www.lawyercluster.co.th/)
- กระทู้ปรึกษาทนายความ (http://www.lawyers.in.th/)
- ให้บริการด้านกฎหมายแก่ธุรกิจ SME (http://www.smelegalspirit.com/)

จะเห็นได้ว่า การดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหม่อาจจะเห็นว่ากฎหมายเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ถ้าหากเปิดใจยอมรับ และเรียนรู้กติกา ก็จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำผิดกฎระเบียบ รวมถึงยังได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค และลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์หรือสินค้าถูกต้องตามมาตรฐาน และนั่นอาจทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ที่มา : https://scbsme.scb.co.th

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

(MOBILE TECHNOLOGY

5 ก.ย. 2561

GooGreen START UP

16 ก.ย. 2561

Call to Action

16 ก.ย. 2561

Powered by MakeWebEasy.com